Month: พฤศจิกายน 2022

อ่านกลับหลัง

การอ่านบทสุดท้ายของนวนิยายเร้นลับก่อนอาจเป็นความคิดที่แย่สำหรับผู้ที่ชอบความระทึกใจของเรื่องราว แต่บางคนจะสนุกกับการอ่านมากขึ้นถ้าได้รู้ตอนจบของเรื่องก่อน

ในหนังสือ อ่านกลับหลัง ริชาร์ด เฮส์ผู้เขียนแสดงให้เห็นความสำคัญของการฝึกเช่นนี้ว่าเพื่อทำให้เราเข้าใจพระคัมภีร์ ศาสตราจารย์เฮส์ให้เหตุผลในการอ่านพระคัมภีร์ไปข้างหน้าและกลับหลังแก่เรา โดยอธิบายถึงการเปิดเผยของพระคำและเหตุการณ์ในพระคัมภีร์ที่พยากรณ์ล่วงหน้า เชื่อมโยงกันและสะท้อนให้ความกระจ่างแก่กันและกัน

เฮส์เตือนผู้อ่านว่าภายหลังการฟื้นพระชนม์ของพระเยซูเท่านั้นที่เหล่าสาวกจึงได้เข้าใจคำตรัสของพระองค์เรื่องการสร้างพระวิหารที่ถูกทำลายขึ้นใหม่ภายในสามวัน อัครสาวกยอห์นบอกเราว่า “พระวิหารที่พระองค์ตรัสถึงนั้นคือพระกายของพระองค์” (ยน.2:21) ในตอนนั้นเองที่พวกเขาได้เข้าใจความหมายของการฉลองปัสกาที่พวกเขาไม่เคยเข้าใจมาก่อน (ดู มธ.26:17-29) ด้วยการย้อนรำลึกเหตุการณ์ พวกเขาจึงเข้าใจการที่พระเยซูประทานความหมายที่สมบูรณ์ถึงความรู้สึกของกษัตริย์ในยุคโบราณที่มีต่อพระวิหารของพระเจ้า (สดด.69:9; ยน.2:16-17) ด้วยการอ่านพระคัมภีร์อีกครั้งภายใต้พระเยซูผู้ทรงเป็นพระวิหารที่แท้จริงของพระเจ้าเท่านั้น ที่เหล่าสาวกจึงได้เข้าใจชัดเจนถึงความเชื่อมโยงในศาสนพิธีของชนอิสราเอลกับพระเมสสิยาห์

และในเวลานี้ มีเพียงการอ่านทบทวนพระคัมภีร์ไปข้างหน้าและกลับหลังเท่านั้นที่จะทำให้เราเห็นทุกสิ่งที่เราต้องการและมุ่งหวังในพระเยซู

ชมรมโสกราตีส

ชมรมโสกราตีสก่อตั้งขึ้นที่มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ประเทศอังกฤษ ในปี 1941 เพื่อสนับสนุนการโต้วาทีระหว่างผู้เชื่อพระเยซูกับผู้ที่ไม่เชื่อว่ามีพระเจ้าหรือผู้ที่ไม่รู้ว่ามีพระเจ้าหรือไม่

การโต้เถียงเรื่องศาสนาในมหาวิทยาลัยทั่วไปไม่ใช่เรื่องแปลก แต่ที่น่าประหลาดใจ คือผู้ที่เป็นประธานชมรมโสกราตีสเป็นเวลาสิบห้าปีคือ ซี.เอส.ลูอิส นักวิชาการคริสเตียนผู้ยิ่งใหญ่ ลูอิสเต็มใจที่จะพิสูจน์ความคิดของตนโดยเชื่อว่าความเชื่อในพระคริสต์สามารถยืนหยัดต่อการตรวจสอบอย่างถี่ถ้วนได้ เขารู้ว่ามีข้อพิสูจน์ที่น่าเชื่อถือและมีเหตุผลในการเชื่อพระเยซู

ที่เป็นเช่นนี้เพราะลูอิสปฏิบัติตามคำแนะนำของเปโตรที่ย้ำเตือนผู้เชื่อที่กระจัดกระจายไปเพราะการข่มเหงว่า “แต่ในใจของท่าน จงเคารพนับถือพระคริสต์ว่าเป็นองค์พระผู้เป็นเจ้า จงเตรียมตัวไว้ให้พร้อมเสมอ เพื่อท่านจะสามารถตอบทุกคนที่ถามท่านว่า ท่านมีความหวังใจเช่นนี้ด้วยเหตุผลประการใด แต่จงตอบด้วยใจสุภาพและด้วยความนับถือ” (1 ปต.3:15) เปโตรให้หลักการสำคัญสองประการคือ เรามีเหตุผลที่ดีในการหวังใจในพระคริสต์ และเราต้องนำเสนอเหตุผลของเราด้วย “ใจสุภาพและด้วยความนับถือ”

การวางใจในพระคริสต์ไม่ใช่การหนีจากโลกไปพึ่งศาสนาหรือเป็นความคิดเพ้อฝัน ความเชื่อของเรามีรากฐานอยู่บนความจริงในประวัติศาสตร์ รวมถึงการฟื้นพระชนม์ของพระเยซูและการที่สรรพสิ่งทรงสร้างเป็นประจักษ์พยานถึงพระผู้สร้าง ขณะที่เราพักพิงในพระปัญญาของพระเจ้าและกำลังของพระวิญ-ญาณ ขอให้เราพร้อมแบ่งปันเหตุผลที่เรามีในการวางใจในพระเจ้าผู้ยิ่งใหญ่ของเรา

พระเจ้าทรงรู้จักคุณ

ดูเหมือนว่าแม่ของฉันจะล่วงรู้ปัญหาได้แต่ไกล ครั้งหนึ่งหลังจากวันอันหนักหน่วงที่โรงเรียน ฉันพยายามปิดบังความหงุดหงิดโดยหวังว่าจะไม่มีใครสังเกตเห็น “เกิดอะไรขึ้น” แม่ถาม แล้วยังเสริมว่า “ก่อนจะบอกแม่ว่าไม่มีอะไร จำไว้ว่าแม่เป็นแม่ของลูก แม่คลอดลูกมา และแม่รู้จักลูกดีกว่าที่ลูกรู้จักตัวเอง” แม่ย้ำเตือนฉันเสมอว่าการที่ท่านรู้จักตัวตนของฉันอย่างลึกซึ้งนั้นช่วยให้ท่านอยู่เคียงข้างฉันในเวลาที่ฉันต้องการท่านมากที่สุด

ในฐานะผู้เชื่อในพระเยซู เราได้รับการดูแลจากพระเจ้าผู้ทรงรู้จักเราอย่างลึกซึ้ง ดาวิดผู้เขียนพระธรรมสดุดีสรรเสริญพระองค์ที่ทรงเอาพระทัยใส่ในชีวิตของบรรดาบุตรของพระองค์ว่า “ข้าแต่พระเจ้า พระองค์ได้ทรงตรวจสอบข้าพระองค์ และทรงรู้จักข้าพระองค์ เมื่อข้าพระองค์นั่งลงและลุกขึ้น พระองค์ทรงทราบ พระองค์ทรงประจักษ์ในความคิดของข้าพระองค์ได้แต่ไกล” (สดด.139:1-2) เพราะพระเจ้าทรงรู้จักเรา ทรงทราบทุกความคิด ความปรารถนา และการกระทำของเรา จึงไม่มีที่ใดที่เราจะไปให้พ้นจากขอบเขตความรักมั่นคงและการดูแลของพระองค์ (ข้อ 7-12) เช่นที่ดาวิดเขียนไว้ว่า “ถ้าข้าพระองค์... อาศัยอยู่ที่ส่วนของทะเลไกลโพ้น แม้ถึงที่นั่น พระหัตถ์ของพระองค์จะนำข้าพระองค์” (ข้อ 9-10) เราพบการปลอบประโลมใจที่รู้ว่าไม่ว่าเราจะอยู่จุดใดของชีวิต เมื่อเราร้องทูลพระเจ้าในคำอธิษฐาน พระองค์จะประทานความรัก สติปัญญา และการทรงนำที่เราต้องการแก่เรา

คิดถึงและอธิษฐานเผื่อ

“ฉันจะคิดถึงและอธิษฐานเผื่อคุณ” หากคุณได้ยินคำพูดนี้ คุณอาจสงสัยว่าผู้พูดหมายความตามนั้นจริงหรือไม่ แต่คุณจะไม่สงสัยเลยหากเอ็ดน่า เดวิสเป็นคนพูด ทุกคนในเมืองเล็กๆที่มีไฟจราจรแค่ต้นเดียวรู้จักสมุดฉีกสีเหลืองของ “คุณเอ็ดน่า” ซึ่งแต่ละหน้าจดรายชื่อมากมายเอาไว้ ทุกเช้าตรู่หญิงชราจะอธิษฐานออกเสียงต่อพระเจ้า ไม่ใช่ทุกคนในรายชื่อของเธอที่ได้รับการตอบคำอธิษฐานอย่างที่พวกเขาต้องการ แต่หลายคนเป็นพยานในงานไว้อาลัยของเธอว่าพระเจ้าทรงให้บางสิ่งที่ยิ่งใหญ่เกิดขึ้นในชีวิตของพวกเขา และพวกเขายกความดีนี้ให้กับการอธิษฐานอย่างกระตือรือร้นของคุณเอ็ดน่า

พระเจ้าทรงสำแดงพลังแห่งการอธิษฐานผ่านประสบการณ์จำคุกของเปโตร หลังจากที่อัครทูตถูกทหารของเฮโรดจับขังไว้ในคุก และให้ “ทหารสี่หมู่ๆละสี่คนคุมไว้” (กจ.12:4) ทางรอดของท่านดูมืดมน แต่ “คริสตจักรได้อธิษฐานพระเจ้าเพื่อเปโตรด้วยใจร้อนรน” (ข้อ 5) พวกเขาคิดถึงและอธิษฐานเผื่อเปโตร สิ่งที่พระเจ้าทรงทำนั้นช่างอัศจรรย์! ทูตองค์หนึ่งมาปรากฏแก่เปโตรในคุก ปลดโซ่ตรวนของท่าน และนำท่านออกจากประตูคุกอย่างปลอดภัย (ข้อ 7-10)

เป็นไปได้ที่บางคนอาจพูดว่า “คิดถึงและอธิษฐานเผื่อ” โดยไม่ได้หมายความตามนั้นจริงๆ แต่พระบิดาทรงทราบความคิดของเรา ทรงสดับฟังคำที่เราทูลอธิษฐาน และกระทำเพื่อเราตามพระประสงค์อันสมบูรณ์ของพระองค์ การได้รับคำอธิษฐานหรือการอธิษฐานเผื่อผู้อื่นไม่ใช่เรื่องเล็กน้อยเมื่อเรารับใช้พระเจ้าผู้ยิ่งใหญ่และทรงฤทธิ์

มุ่งทำต่อไป! ด้วยใจแน่วแน่

ในบทกวีที่มีชื่อว่า “พักผ่อน” ผู้ประพันธ์เสนอคำท้าทายอย่างสุภาพต่อการที่เรามีแนวโน้มที่จะแยกเวลา “พัก” ออกจากเวลา “งาน” โดยถามว่า “มิใช่ว่าคนที่ทำงานหนัก จึงได้พักอย่างแท้จริงหรือ” หากคุณต้องการพักผ่อนอย่างแท้จริง แทนที่จะพยายามหลีกเลี่ยงการทำในสิ่งที่เป็นบทบาทหน้าที่ของชีวิต ผู้เขียนแนะนำว่า “จงทำอย่างดีที่สุด อย่าให้เวลาสูญเปล่า นอกเหนือจากนี้ไม่ใช่การพัก หากจะยลความงาม จำต้องเข้าใกล้พระเจ้า หรือทำแต่ความดีหรือมีเพียงต้องทำหน้าที่ จึงจะพบความงามนั้น”

ผู้ประพันธ์สรุปว่าความสุขและการพักผ่อนอย่างแท้จริงนั้นพบได้ผ่านความรักและการรับใช้ แนวคิดนี้ทำให้คิดถึงคำหนุนใจของเปาโลต่อชาวเธสะโลนิกา หลังจากอธิบายถึงการทรงเรียกของท่านเพื่อหนุนใจพวกผู้เชื่อให้ “ประพฤติอย่างสมควรต่อพระเจ้า” (1 ธส.2:12) อัครทูตได้ให้รายละเอียดที่เจาะจงมากขึ้น

ภาพที่ท่านบรรยายคือชีวิตที่สัตย์ซื่อ รัก และรับใช้อย่างสงบ เปาโลทูลขอให้พระเจ้า “ทรงให้ [พวกเขา] จำเริญและบริบูรณ์ไปด้วยความรักซึ่งกันและกัน และรักคนทั้งปวง” (3:12) และท่านยังวิงวอนผู้เชื่อในพระเยซูว่า “จงตั้งเป้าว่าจะอยู่อย่างสงบ” “ทำกิจธุระส่วนของตน และทำการงานด้วยมือของตนเอง” (4:11) นี่คือชีวิตที่รักและรับใช้อย่างสงบในทุกโอกาสที่พระเจ้าประทานแก่เรา ซึ่งจะทำให้ผู้อื่นมองเห็นความงามของชีวิตแห่งความเชื่อ (ข้อ 12)

ดังที่ผู้เขียนบอกไว้ ความสุขที่แท้จริงคือ “การรักและปรนนิบัติ อย่างเต็มที่และดีที่สุด มุ่งทำต่อไป! ด้วยใจแน่วแน่ นั่นจึงเป็นการพักที่แท้จริง”

ระวังตัวอยู่เสมอ

ชายคนหนึ่งกับกลุ่มเพื่อนเดินเข้าประตูสกีรีสอร์ทที่ติดป้ายเตือนให้ระวังหิมะถล่มและเริ่มเล่นสโนว์บอร์ด ตอนที่ไถลตัวลงในรอบที่สองมีคนตะโกนว่า “หิมะถล่ม!” ชายคนนี้หนีไม่พ้นและเสียชีวิตในหิมะที่ถล่มลงมา บางคนวิพากษ์วิจารณ์และเรียกเขาว่ามือใหม่ ซึ่งไม่ใช่เลย เขาเป็น “มัคคุเทศก์ที่ผ่านหลักสูตรการรับมือกับหิมะถล่มในพื้นที่ทุรกันดาร” นักวิจัยคนหนึ่งกล่าวว่านักสกี
และนักสโนว์บอร์ดที่ฝึกรับมือกับหิมะถล่มมามากมักมีแนวโน้มจะผ่อนปรนให้กับเหตุผลที่ผิดพลาด “[นักสโนว์บอร์ด] เสียชีวิตเพราะถูกหลอกให้ลดการป้องกันตัวลง”

ขณะที่ชนอิสราเอลเตรียมเดินทางเข้าสู่ดินแดนแห่งพันธสัญญา พระเจ้าทรงต้องการให้ประชากรของพระองค์เตรียมตั้งรับโดยการเฝ้าระวังและตื่นตัว พระองค์จึงบัญชาให้พวกเขาเชื่อฟัง “กฎเกณฑ์และกฎหมาย” (ฉธบ.4:1-2) ทั้งสิ้นของพระองค์ และจดจำการพิพากษาในอดีตของพระองค์ที่มีต่อผู้ที่ไม่เชื่อฟัง (ข้อ 3-4) พวกเขาต้อง “ระวังตัว” ในการสำรวจตัวเองและรักษาชีวิตฝ่ายวิญญาณให้ดี (ข้อ 9) สิ่งนี้จะช่วยปกป้องพวกเขาจากอันตรายฝ่ายวิญญาณภายนอกและความเฉื่อยชาฝ่ายวิญญาณภายใน

เป็นเรื่องง่ายที่เราจะลดการป้องกันตัวลง และตกอยู่ในความเฉยชาและหลอกตัวเอง แต่พระเจ้าสามารถประทานกำลังแก่เราเพื่อจะหลีกเลี่ยงความผิดพลาดในชีวิต และประทานการอภัยโดยพระคุณของพระองค์เมื่อเราทำพลาด โดยการติดตามและพึ่งพาในพระปัญญาและการจัดเตรียมของพระองค์ เราจึงจะสามารถระวังตัวและตัดสินใจได้อย่างถูกต้อง!

ใช้เสียงของคุณ

ลิซ่าต้องต่อสู้กับการพูดติดอ่างและกลายเป็นคนกลัวการเข้าสังคมที่ต้องพูดคุยกับผู้คนตั้งแต่เธออายุแปดขวบ แต่ช่วงชีวิตต่อมาหลังเข้ารับการบำบัดด้านการพูดช่วยให้เธอเอาชนะอุปสรรคได้ ลิซ่าจึงเลือกที่จะใช้เสียงของเธอช่วยเหลือผู้อื่น เธอเริ่มงานอาสาสมัครเป็นผู้ให้คำปรึกษาทางโทรศัพท์สำหรับผู้ที่โศกเศร้า

โมเสสก็ต้องเผชิญหน้ากับความกังวลในเรื่องการพูดเพื่อช่วยนำชนชาติอิสราเอลออกจากการเป็นเชลย พระเจ้าขอให้ท่านสื่อสารกับฟาโรห์ แต่โมเสสทักท้วงเพราะรู้สึกไม่มั่นใจความสามารถในการพูดของตน (อพย.4:10) พระเจ้าทรงท้าทายท่านว่า “ผู้ใดเล่าที่สร้างปากมนุษย์” จากนั้นพระองค์ทรงรับรองกับโมเสสว่า “เราจะอยู่ที่ปากของเจ้า และจะสอนคำซึ่งควรจะพูด” (ข้อ 11-12)

การตอบสนองของพระเจ้าย้ำเตือนเราว่า พระองค์สามารถกระทำพระราช-กิจอันทรงฤทธิ์ผ่านทางเราแม้เราจะมีข้อจำกัด แต่ถึงเราจะทราบดีอยู่แก่ใจก็ยังเป็นเรื่องยากที่จะทำ โมเสสยังคงขัดขืนและอ้อนวอนให้พระเจ้าทรงใช้ผู้อื่นไปแทน (ข้อ 13) พระเจ้าจึงทรงอนุญาตให้อาโรนพี่ชายของท่านไปกับท่าน (ข้อ 14)

เราแต่ละคนมีเสียงที่สามารถช่วยผู้อื่นได้ เราอาจกลัว เราอาจรู้สึกไร้ความสามารถ เราอาจรู้สึกว่าไม่มีคำพูดที่เหมาะสม

พระเจ้าทรงทราบว่าเรารู้สึกเช่นไร พระองค์สามารถประทานถ้อยคำและทุกสิ่งที่เราต้องการ เพื่อจะรับใช้ผู้อื่นและทำงานของพระองค์ให้สำเร็จ

ความรักพระเจ้า

ในปี 1917 เฟรเดอริค ลีห์แมน นักธุรกิจจากแคลิฟอร์เนียซึ่งประสบกับวิกฤตด้านการเงินได้แต่งเนื้อเพลงนมัสการ “ความรักพระเจ้า” แรงบันดาลใจที่มีทำให้เขาเขียนสองท่อนแรกได้อย่างรวดเร็วแต่กลับติดขัดในท่อนที่สาม เขานึกถึงบทกวีที่ถูกค้นพบบนผนังคุกแห่งหนึ่งเมื่อหลายปีก่อน นักโทษคนหนึ่งสลักมันไว้บนหิน บรรยายถึงการรับรู้อย่างลึกซึ้งถึงความรักของพระเจ้า กวีบทนี้มีความยาวพอดีกับเพลงนมัสการของลีห์แมน เขาจึงใช้มันในท่อนที่สาม

มีหลายครั้งที่เราต้องเผชิญกับวิกฤตที่ยากลำบากเช่นเดียวกับลีห์แมนและนักกวีในคุกคนนั้น ในเวลาแห่งความสิ้นหวัง เราควรสะท้อนถ้อยคำของดาวิดผู้เขียนสดุดีและ “ลี้ภัยอยู่ใต้ร่มปีกของ[พระเจ้า]” (สดด.57:1) เป็นการดีที่จะ “ร้องทูลต่อพระเจ้า” ถึงปัญหาของเรา (ข้อ 2) ทูลพระองค์ถึงความทุกข์ที่เรากำลังเผชิญและความกลัวที่เกิดขึ้นเมื่อเรา “อยู่ท่ามกลางเหล่าสีหราช” (ข้อ 4) ในไม่ช้าเราจะระลึกถึงการทรงจัดเตรียมของพระเจ้าในอดีต และร่วมกล่าวไปพร้อมกับดาวิดว่า “ข้าพระองค์จะร้องเพลง ข้าพระองค์จะร้องเพลงสดุดี...ข้าพเจ้าจะปลุกอรุณ” (ข้อ 7-8)

เพลงนมัสการบทนี้ประกาศว่า “ความรักพระเจ้ากว้างใหญ่ไพศาล” ตามด้วย “รักนั้นสูงเหนือดาวเดือนตะวัน” ในเวลาที่เราลำบากยากเข็ญที่สุด เราจะยิ่งเห็นว่าความรักของพระเจ้านั้นใหญ่ยิ่ง “ถึงฟ้าสวรรค์” (ข้อ 10) เพียงใด

ความกรุณาเล็กน้อย

อแมนด้าทำงานเป็นพยาบาลเยี่ยมไข้ที่ต้องสับเปลี่ยนไปตามศูนย์ดูแลผู้สูงอายุหลายแห่ง เธอมักจะพารูบี้ลูกสาววัยสิบเอ็ดขวบไปทำงานด้วย รูบี้อยากหาอะไรทำจึงเริ่มถามผู้คนที่ศูนย์ว่า “ถ้าคุณสามารถขอสามสิ่ง คุณอยากได้อะไร” จากนั้นก็จดคำตอบของพวกเขาในสมุดของเธอ น่าประหลาดใจที่คำขอจำนวนมากคือสิ่งของเล็กน้อยอย่าง ไส้กรอกเวียนนา พายช็อกโกแลต ชีส และอโวคาโด รูบี้จึงเริ่มระดมทุนผ่านเว็บไซต์ GoFundMe เพื่อช่วยให้เธอเติมเต็มความปรารถนาอันเรียบง่ายของพวกเขา และเมื่อนำข้าวของไปมอบให้เธอจะกอดพวกเขา เธอพูดว่า “มันทำให้คุณรู้สึกดีขึ้นได้จริงๆ”

เมื่อเราสำแดงความเมตตาปรานีเหมือนรูบี้ เราก็สะท้อนให้เห็นถึงพระเจ้าของเราผู้ “ทรงพระเมตตากรุณา...และมีความรักมั่นคงอย่างอุดม” (สดด.145:8) นั่นเป็นเหตุให้อัครทูตเปาโลกำชับเราในฐานะประชากรของพระเจ้าว่า “จงสวมใจเมตตา ใจปรานี ใจถ่อม ใจอ่อนสุภาพ ใจอดทนไว้นาน” (คส.3:12) เพราะพระเจ้าทรงสำแดงพระกรุณาอันยิ่งใหญ่แก่เรา เราจึงมีใจปรารถนาจะแบ่งปันพระกรุณาของพระองค์แก่ผู้อื่น และเมื่อเราตั้งใจทำเช่นนั้น เราก็ “สวม” ตัวเราไว้ด้วยสิ่งนั้น

เปาโลบอกเราต่อว่า “แล้วจงสวมความรักทับสิ่งเหล่านี้ทั้งหมด เพราะความรักย่อมผูกพันทุกสิ่งไว้ให้ถึงซึ่งความสมบูรณ์” (ข้อ 14) ท่านเตือนว่าเราจะต้อง “กระทำทุกสิ่งในพระนามของพระเยซูเจ้า” (ข้อ 17) และระลึกว่าสิ่งดีทุกอย่างมาจากพระเจ้า เมื่อเราสำแดงความกรุณาปรานีต่อผู้อื่น จิตวิญญาณของเราก็ได้รับการยกชูขึ้น

เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ หากท่านใช้บริการเว็บไซต์นี้ต่อไป นั่นเป็นการแสดงว่าท่านยอมรับ นโยบายการใช้คุกกี้ของเรา